วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

บ้านอ่างเตย อ.ท่าตะเกียบ

ประวัติความเป็นมา
บ้านอ่างเตย หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา แยกมาจากบ้านหนองปรือกันยาง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าตะเกียบ กิ่งอำเภอสนามชัยเขต เมื่อปี พ.ศ.2536 และเนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านนี้ มีลักษณะเป็นอ่าง เมื่อนำมารวมกับความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเตยป่าที่ขึ้นอยู่ในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “บ้านอ่างเตย” มาจนถึงปัจจุบัน 


อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับบ้านเนินสว่าง อ.สนามชัยเขต
ทิศใต้ ติดกับบ้านคลองมะหาด
ทิศตะวันออก ติดกับบ้านหนองปรือกันยาง
ทิศตะวันตก ติดกับบ้านเขาสีเสียด อ.สนามชัยเขต 

สภาพทั่วไป
บ้านอ่างเตย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 75 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 24,000 ไร่ เป็นพื้นที่ทำไร่ เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ยูคาลิปตัส สัปปะรด ประมาณ 9,000 ไร่ และพื้นที่ทำนา ประมาณ 3,000 ไร่ 

ประชากร 
ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง ปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 320 ครัวเรือน จำนวนประชากร 1,464 คน เป็นชาย 731 คน เป็นหญิง 733 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา สวนผลไม้ ปลูกผัก ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม 

ผลิตภัณฑ์ของชุมชน 
ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ไม้กวาดดอกหญ้า หน่อไม้ไผ่ตง ผักปลอดสารพิษ ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม สบู่ ยางพารา และผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน สัปปะรด เป็นต้น 

ประเพณีและสถานที่สำคัญของชุมชน 
ได้แก่ วัด โรงเรียน และศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านอ่างเตย ประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีทำบุญกลางบ้าน 

ผู้นำ/กลุ่ม/องค์กรชุมชน
1. นายสำรวย ทรัพย์ประสาน สจ.ท่าตะเกียบ
2. นายไพรวัลย์ คำประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน
3. กองทุนหมู่บ้าน
4. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
5. กองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน
6. กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์หมู่บ้าน
7. กลุ่มทอผ้าไหม
8. กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ
9. กลุ่มถักไม้กวาด
10. กลุ่มปลูกไผ่
11. กลุ่มไม้ผล
12. กลุ่มปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด
13. กลุ่มเลี้ยงสุกร ฯลฯ

กิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
ประชาชนในหมู่บ้านอ่างเตยดำรงชีวิตอยู่ในความพอประมาณพึ่งพาตนเอง มีกิจกรรมลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน เช่น การปลูกผักไว้กินภายในครัวเรือนและสามารถขายได้ในรูปของกลุ่ม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้จักตนเอง มีการรวมกลุ่มกันบริหารทุนชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน ทำให้ดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและสมดุล เช่น จัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพขึ้นเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำลายดิน จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม เป็นต้น

ความภาคภูมิใจของชุมชน
1. เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนตัวอย่างของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2554
2. เป็นหมู่บ้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2554
3. เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2553
4. เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ “อยู่ดี กินดี” ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2552

การใช้ชีวิตแบบพอเพียงของบ้านอ่างเตย
ความพอประมาณ  ชาวบ้านอ่างเตยดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยความพอดี ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล ชาวบ้านอ่างเตยจะตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ด้วยความมีเหตุผล โดยมีการประชุมหมู่บ้านทุกวันที่ 5 ของเดือน เพื่อพิจารณาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  ชาวบ้านอ่างเตยมีการ เตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เช่น การกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ และกองทุนสวัสดิการอื่น ๆ เป็นต้น

การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ ได้แก่ วิชาการต่าง ๆ มาประกอบการวางแผน และคุณธรรม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน ใช้สติปัญญาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

ผลจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

บ.สระไม้แดง อ.สนามชัยเขต

หมู่บ้านแรกที่จะนำเสนอ คือ บ้านสระไม้แดง หมู่ที่ 5 ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2554 และได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง "อยู่เย็น เป็นสุข" ปี 2554 ของจังหวัดด้วย โดยเข้ารับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเร็วๆ นี้

บ้านสระไม้แดง มีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายเชษฐา ภูสมที ครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริง 206 ครัวเรือน ประชากร 824 คน เป็นชาย 432 คน หญิง 392 คน อาชีพหลักคือทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพรองคือรับจ้าง อาชีพเสริมคือเพาะเห็ดฟางและปลูกพืชผัก แต่ก่อนหลังจากทำนา ชาวบ้านต้องไปรับจ้างนอกหมู่บ้านได้ค่าแรงวันละ 2030 บาท คนส่วนใหญ่จึงมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบันนี้มีรายได้ดีขึ้นมากจากการทำอาชีพเสริมเพาะเห็ดฟาง ทุกครอบครัวมีรายได้ทุกวัน ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท รวมทั้งคนชราและเด็กที่รับจ้างตัดโคนเห็ดได้กิโลกรัมละ 3 บาท

การทำการเกษตรที่บ้าน ทำให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ามีความอบอุ่น มีเวลาให้ความร่วมมือกับชุมชน การดำเนินชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคนในชุมชนให้ความสำคัญมากกับโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน มีการคัดเลือกครอบครัวพัฒนาต้นแบบ 30 ครัวเรือน เพื่อเป็นแกนนำวิถีชีวิตแบบพอเพียง ต่อมามีการขยายผลเกือบครบทุกครัวเรือน กิจกรรมที่ทำ เช่น การทำสวนครัว รั้วกินได้ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้านและรั้วบ้าน มีการทำความสะอาดและจัดบริเวณบ้านให้น่าอยู่ น่ามอง ทำป้ายชื่อบ้านที่ดูดีและสวยงาม มีการออมเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน มีการอนุรักษ์ป่าชุมชน 2 แห่ง คือ ป่าอนุรักษ์ และป่าเศรษฐกิจชุมชน ป่าอนุรักษ์ ชุมชนได้ดำเนินการจัดทำแนวเขต แนวกันไฟ มีการจัดเวรยามป้องกันไฟป่า รักษาป่าให้คงเดิมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีการปลูกต้นไม้ในชุมชน ให้เกิดความร่มรื่น สร้างจิตสำนึกในการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน สำหรับป่าเศรษฐกิจ ชุมชนได้เน้นการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส เพื่อตัดขายแล้วนำรายได้มาพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน

ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน มีจุดเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน และจุดเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ยาสมุนไพร การทำบายศรี การจักสาน การทอผ้าพื้นบ้าน ด้านความเอื้ออาทรต่อกัน ชุมชนมีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนเป็นญาติพี่น้อง แม้จะนับถือศาสนาที่ต่างกัน โดยมีวัดบ้านสระไม้แดง และวัดคาทอริกเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนา ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของบ้านสระไม้แดง คือ มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม อันเกิดจากผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ มีความเสมอภาค เป็นแบบอย่างที่ดี เชื่อถือ และไว้วางใจได้ นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีความร่วมมือ ร่วมใจ มีความสามัคคี ต้องการเห็นชุมชนน่าอยู่ คนในชุมชนมีอาชีพมีรายได้สม่ำเสมอ สังคมเป็นสุข เอื้ออาทรต่อกัน สิ่งแวดล้อมดี มีความปลอดภัย ต้องการพึ่งพาตนเองให้มาก พึ่งพาภายนอกให้น้อยลง กิจกรรมทุกเรื่องต้องมีการทำประชาคม รับฟังปัญหา ความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และบรรจุไว้ในแผนชุมชน โดยยึดแนวทางสายกลางแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นหลัก... ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239 หรือ ผู้ใหญ่เชษฐา ภูสมที โทร.087-0664652